หากลูกของคุณพ่อคุณแม่ตื่นขึ้นมากลางดึกเพราะคันอย่างรุนแรง ผิวหนังเต็มไปด้วยตุ่มแดงและรอยเกา อาการเหล่านี้อาจไม่ใช่แค่ผื่นธรรมดา แต่เป็นสัญญาณของ “โรคหิด” โรคผิวหนังที่เกิดจากไรตัวจิ๋วที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ผิวหนังและแพร่ระบาดได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กที่ยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้เต็มที่

โรคหิดเป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็กเล็ก โดยเฉพาะในโรงเรียนหรือศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่มีการสัมผัสใกล้ชิด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง โรคนี้สามารถแพร่กระจายไปสู่คนรอบข้างและทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้

บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักโรคหิดในเด็ก ตั้งแต่สาเหตุ อาการ วิธีการรักษา และการป้องกัน เพื่อให้คุณสามารถดูแลลูกน้อยได้อย่างถูกต้องและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โรคหิด (Scabies) เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากไรหิด Sarcoptes scabiei ซึ่งเป็นปรสิตขนาดเล็กที่ขุดโพรงอยู่ในผิวหนัง ทำให้เกิดอาการคันรุนแรง โดยเฉพาะในเวลากลางคืน โรคนี้สามารถติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัสโดยตรงหรือผ่านเสื้อผ้าและเครื่องนอนที่ปนเปื้อน

โรคหิด

สาเหตุของ โรคหิด

เกิดจากการติดเชื้อไรหิด Sarcoptes scabiei ที่เจาะเข้าไปอยู่ใต้ผิวหนังและวางไข่ ทำให้เกิดการอักเสบและอาการคัน

อาการของโรคหิดในเด็ก

• มี ผื่นแดง คันรุนแรง โดยเฉพาะเวลากลางคืน

• พบ ตุ่มน้ำใส หรือ ตุ่มแดงเล็กๆ ตามซอกนิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อมือ รักแร้ รอบสะดือ ก้น อวัยวะเพศ หรือข้อพับต่างๆ

• อาจพบ รอยขีดเป็นเส้นเล็กๆ ซึ่งเป็นโพรงที่ไรหิดขุดอยู่ใต้ผิวหนัง

• หากเกามาก อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม ทำให้เกิด หนอง และอักเสบ

โรคหิด

การติดต่อของ โรคหิด

1. สัมผัสใกล้ชิดโดยตรง กับผิวหนังของผู้ที่เป็นโรค เช่น พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู บุคคลอื่นที่มาเล่นกับเด็ก

2. ใช้ของใช้ร่วมกัน เช่น เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว

3. การอยู่ในที่แออัด เช่น โรงเรียน ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก

การรักษาโรคหิดในเด็ก

1. ยาทาฆ่าไรหิด เช่น เพอร์เมทริน (Permethrin) 5% ทาทั่วร่างกาย (เว้นใบหน้าและศีรษะ) ทิ้งไว้ 8-12 ชั่วโมง แล้วล้างออก, เว้นไป 1 สัปดาห์ทาซ้ำอีก 1 ครั้ง (ทายาทั้งหมด 2 ครั้ง ห่างกัน 1 สัปดาห์)

2. ยารับประทาน กรณีที่เป็นรุนแรงหรือเป็นทั้งครอบครัว ในเด็กโตและผู้ใหญ่ แพทย์อาจให้ ไอเวอร์เมกติน (Ivermectin) รับประทาน

3. ยาแก้แพ้แก้คันกลุ่มต้านฮีสตามีน เช่น Chlorpheniramine หรือ Cetirizine เพื่อลดอาการคัน

4. กำจัดเชื้อไรหิดในสิ่งแวดล้อมในบ้าน ซักเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน และของใช้ส่วนตัวด้วยน้ำร้อนและตากแดดจัดให้แห้ง กรณีไม่สามารถซักได้ ให้ใส่ถุงดำมัดปากถุงทิ้งไว้ 7 วันเพื่อกำจัดเชื้อไรหิดที่หลงเหลืออยู่

5. รักษาพร้อมกันทั้งครอบครัว และคนใกล้ชิดเพื่อลดการกลับมาเป็นซ้ำ

การป้องกันโรคหิด

• หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ

• ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น

• รักษาความสะอาดของเสื้อผ้าและที่นอน สิ่งแวดล้อมในบ้าน

• หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัดหากมีการระบาด

หากลูกของคุณมีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคหิด ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม

บทความโดย 

นพ. ณัฐพล  ธรรมสกุลศิริ แพทย์ผิวหนังเด็ก

โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา 

อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม…

ไขปัญหาผิวเด็กกับหมอณัฐ

ปัญหาผิวลูกน้อยปรึกษาคุณหมอผิวหนังเด็กฟรี

นพ. ณัฐพล ธรรมสกุลศิริ แพทย์ผิวหนังเด็ก

โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา

เข้ากลุ่มปรึกษาคลิกที่นี่

ผลิตภัณฑ์แนะนำในการดูแลผิว

สั่งซื้อคลิกเลย/Buy

Set A