
โรคสะเก็ดเงินในเด็ก คืออะไร?
โรคสะเก็ดเงินในเด็ก (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดรอยโรคเป็นผื่นแดง มีขุยสีขาวหรือเงินปกคลุม พบได้ในทุกช่วงวัย แม้แต่ในเด็กก็สามารถเป็นโรคนี้ได้ แม้ว่าอัตราการเกิดโรคสะเก็ดเงินในเด็กจะน้อยกว่าผู้ใหญ่ก็ตาม

อาการของ โรคสะเก็ดเงินในเด็ก
อาการของโรคสะเก็ดเงินในเด็กมักคล้ายกับผู้ใหญ่ แต่อาจมีลักษณะที่แตกต่างกันเล็กน้อย ได้แก่
- เป็นผื่น แผ่นหนา สีแดง มีขุยสีขาว หรือสีเงินบริเวณข้อศอก หัวเข่า และลำตัว
- ผื่นกลมเล็กๆ กระจายตามตัว มักพบในเด็ก สัมพันธ์กับการคิดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus เช่น คออักเสบ
- สะเก็ดเงิน บนหนังศรีษะ
- สะเก็ดเงิน บริเวณซอกพับ เช่น รักแร้ ขาหนีบ บริเวณที่ใส่ผ้าอ้อม หรือรอบสะดือ มักพบในเด็กทารก
- สะเก็ดเงินที่เล็บ เล็บเป็นหลุมเล็กๆ ขรุขระ เล็บหนา
- แบบตุ่มหนอง กระจายทั่วตัว
• อาการคันหรือแสบผิว บางรายอาจมีอาการคันรุนแรง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต
• อาการแทรกซ้อน ในบางรายอาจมีการอักเสบของข้อต่อร่วมด้วย (Psoriatic Arthritis)

สาเหตุและปัจจัยกระตุ้น
โรคสะเก็ดเงินในเด็กไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อหรือการแพร่กระจายจากคนสู่คน แต่เป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1. พันธุกรรม
หากพ่อแม่หรือสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคสะเก็ดเงิน เด็กก็มีโอกาสสูงที่จะได้รับถ่ายทอดทางพันธุกรรม
2. ระบบภูมิคุ้มกัน
โรคสะเก็ดเงินเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเร็วกว่าปกติและสะสมเป็นขุย
3. ปัจจัยกระตุ้น
• การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย เช่น คออักเสบจากเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส อาจกระตุ้นให้เกิดโรคสะเก็ดเงินในเด็ก
• ความเครียด เด็กที่มีความเครียดสูงอาจมีอาการของโรคสะเก็ดเงินกำเริบ
• บาดแผลหรือการระคายเคืองผิวหนัง การเกา แผลถลอก หรือแม้แต่ผื่นผ้าอ้อมอาจกระตุ้นให้เกิดโรคได้
• สภาพอากาศ อากาศแห้งและหนาวเย็นอาจทำให้ผิวแห้งและทำให้อาการแย่ลง
วิธีดูแลและรักษา โรคสะเก็ดเงินในเด็ก
แม้ว่าโรคสะเก็ดเงินจะเป็นโรคเรื้อรังที่ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
1. การใช้ยาทาภายนอก
• คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ยาลดการอักเสบที่ใช้บรรเทาอาการของโรคสะเก็ดเงิน
• วิตามินดีสังเคราะห์ (Calcipotriol, Calcitriol) ช่วยชะลอการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง
• มอยส์เจอไรเซอร์ เพื่อป้องกันผิวแห้งและลดอาการคัน
2. การรักษาด้วยแสง (Phototherapy)
ใช้แสงอัลตราไวโอเลต (UVB) เพื่อช่วยชะลอการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก
3. การใช้ยารับประทานหรือยาฉีด (ในกรณีรุนแรง)
หากอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาใช้ยา เช่น
• Methotrexate หรือ Cyclosporine เพื่อลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
• ชีววัตถุ (Biologic drugs) เช่น Adalimumab หรือ Etanercept สำหรับเด็กที่มีอาการรุนแรงและดื้อต่อการรักษาแบบอื่น

เคล็ดลับดูแลเด็กที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน
• หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนจัด เพราะจะทำให้ผิวแห้งและอาการแย่ลง
• ใช้สบู่หรือครีมอาบน้ำที่อ่อนโยน หลีกเลี่ยงสารเคมีที่ระคายเคือง
• ให้เด็กทาครีมบำรุงผิวเป็นประจำ เพื่อป้องกันผิวแห้ง
• ส่งเสริมสุขภาพจิต โรคสะเก็ดเงินอาจส่งผลต่อความมั่นใจของเด็ก ผู้ปกครองควรให้กำลังใจและช่วยให้เด็กปรับตัวกับโรค
• หลีกเลี่ยงอาหารกระตุ้นอาการ เช่น อาหารแปรรูป น้ำตาลสูง หรืออาหารที่ทำให้เกิดการอักเสบ
สรุป
โรคสะเก็ดเงินในเด็กเป็นภาวะที่ต้องการความเข้าใจและการดูแลอย่างถูกวิธี แม้ว่าจะเป็นโรคเรื้อรัง แต่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยการรักษาอย่างเหมาะสมและการดูแลสุขภาพผิวที่ดี ผู้ปกครองควรสังเกตอาการของลูกและปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและมั่นใจ
บทความโดย
นพ. ณัฐพล ธรรมสกุลศิริ แพทย์ผิวหนังเด็ก
โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา
อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม…

ปรึกษาคุณหมอผิวหนังเด็กฟรี
นพ. ณัฐพล ธรรมสกุลศิริ
รพ. พญาไทศรีราชา
เข้ากลุ่มปรึกษา คลิกเลย…
ผลิตภัณฑ์แนะนำ
สั่งซื้อคลิกเลย/Buy
