ลูก แพ้นมวัว คุณพ่อคุณแม่บางท่านกำลังมีปัญหากลุ้มใจ เมื่อลูกน้อยมีผื่นตามตัว อาเจียน ท้องเสีย หรือหายใจครืดคราด และสงสัยว่าลูกแพ้นมวัวหรือเปล่า? เราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเราแพ้นมวัวจริงๆ แล้วถ้าลูกแพ้นมวัวต้องทานนมอะไรแทน?
อาการ แพ้นมวัว ส่วนใหญ่จะพบมากกว่า 2 อาการ และมากกว่า 2
ระบบขึ้นไป ได้แก่
ระบบผิวหนัง เช่น ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ผื่นลมพิษ ปากบวม ตาบวม
ระบบทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน กรดไหลย้อน ลำไส้อักเสบ ท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือด
ระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล หายใจครืดคราด ไอ หอบ
ภาวะแพ้นมวัวชนิดรุนแรง anaphylaxis พบได้น้อย แต่เป็นภาวะฉุกเฉินซึ่งอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ มักมีอาการ 2 ระบบขึ้นไป เช่น ผื่นลมพิษร่วมกับหายใจลำบาก หน้าบวม ลิ้นบวม ปากบวม ใจสั่น หรือมีประวัติทานนมวัวร่วมกับมีความดันต่ำ ช็อคหมดสติ หัวใจหยุดเต้น อาการเหล่านี้มักเกิดในช่วงเวลาตั้งแต่ 5- 60 นาที หลังทานนมวัวการแพ้นมวัวนั้นเกิดจากร่างกายสร้างสารภูมิต้านทานที่มีชื่อว่า immunoglobulin E (IgE) ต่อโปรตีนนมวัวหรือ การแพ้นมวัวชนิดที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ IgE (non IgE mediated) ก็ได้ หรือร่วมกันทั้ง 2 อย่าง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ลูกแพ้นมวัว?
พบว่าการที่มารดาทานนมวัวในปริมาณมากขึ้นตั้งแต่เดือนที่ 4 ของการตั้งครรภ์จะทำให้เกิดภาวะแพ้นมวัวของทารกในครรภ์ และเมื่อทารกคลอดและได้รับนมวัวก็จะกระตุ้นให้แสดงอาการแพ้นมวัวออกมาในช่วงวัยทารก ระบบย่อยอาหารในเด็กทารกนั้นยังพัฒนาไม่สมบูรณ์และยังไม่มีการสร้างสารภูมิต้านทานที่เรียกว่า “secretory IgA” ทำให้มีโปรตีนนมวัวโมเลกุลใหญ่เข้าไปกระตุ้นให้เกิดการแพ้นมวัว
แพ้นมวัว วินิจฉัยอย่างไร?
การวินิจฉัยโรคโดยมากจะอาศัยจากประวัติเป็นสำคัญ ได้แก่
1. มีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัวโดยเฉพาะพ่อแม่ หรือพี่น้อง
2. อาการแพ้นมวัวมักจะเริ่มภายในระยะเวลาหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์ หลังจากเด็กได้รับประทานนมวัวและขึ้นกับปริมาณนมวัวที่ได้รับ
3. มักมีอาการมากกว่า 2 อาการ และมากกว่า 2 ระบบขึ้นไปและอาการเรื้อรังเป็นๆหายๆ
4. แม่ทานนมวัวในช่วงตั้งครรภ์มากกว่าปกติ ทำให้โปรตีนนมวัวที่แม่ทานจะผ่านจากแม่ไปกระตุ้นการแพ้นมวัวในทารกได้
5. เด็กที่ทานนมแม่อย่างเดียว แม่มักทานนมวัวมากกว่าปกติในขณะให้นมลูก
6. เด็กมักจะมีน้ำหนักน้อย เลี้ยงไม่โต ทานนมน้อยเปลี่ยนนมบ่อย
การตรวจเพิ่มเติม?
การทดสอบทางผิวหนัง skin test หรือ การตรวจเลือดblood test จะได้ประโยชน์ในกลุ่มแพ้นมวัวที่เกิดจาก IgE-mediated เช่น ผื่นลมพิษ ตาบวม ปากบวม น้ำมูก หายใจครืด ไอ หอบ แต่สำหรับผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่แพ้นมวัวร่วมด้วย (กลไกเป็นแบบผสม มีทั้ง IgE และ non-IgE) การแปลผลค่อนข้างซับซ้อน คือระดับตัวเลขยิ่งสูงยิ่งมีโอกาสแพ้มาก แต่ตัวเลขน้อยๆ อาจแพ้หรือไม่แพ้ก็ได้ และระดับตัวเลขไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของอาการแพ้ สำหรับการแพ้นมวัวชนิด non-IgE เช่น กลุ่มลำไส้อักเสบและทวารหนักอักเสบจากการแพ้โปรตีนนมวัวการวินิจฉัยมาตรฐานคือ การทดสอบให้เด็กทานนมวัวและสุ่มเทียบกับอาหารที่ไม่แพ้ (DBPCFC test)
แพ้นมวัว รักษาอย่างไร ?
1. ต้องงดนมวัวและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัวทุกชนิดอย่างน้อย 1 ปี และค่อยๆกลับมาทดลองรับประทานดูใหม่
2. ถ้าทานนมแม่ร่วมด้วยอยู่แล้วก็ให้ทานนมแม่ต่อไปได้โดยที่แม่ต้องงดนมวัวและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัวทุกชนิดด้วยเช่นกัน
3. ถ้าต้องการให้นมเสริมแนะนำให้ใช้นมสำหรับเด็กแพ้นมวัวสูตร extensively hydrolysed formula (eHF), amino acid based formula (กรณีสูตรแรกไม่ได้ผล) หรือนมถั่วเหลือง (soy formula, สำหรับทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไปและไม่แพ้ถั่วเหลือง)
แพ้นมวัว ทานนมแพะได้หรือไม่?
คำตอบคือ ไม่ได้ เพราะนมแพะมีโครงสร้างโปรตีนเหมือนนมวัว ดังนั้นถ้าแพ้นมวัวก็จะ
แพ้นมแพะด้วย
แพ้นมวัว จะหายเมื่อไหร่?
อาการจะค่อยๆ หายไปเมื่อโตขึ้นคือ
หาย 45-56 % เมื่ออายุ 1 ปี
หาย 60-77 % เมื่ออายุ 2 ปี
หาย 84-87 % เมื่ออายุ 3 ปี
และหาย 90-95 % เมื่ออายุ 5-10 ปี
และพบว่ากลุ่มแพ้นมวัวที่เกิดจาก Non-IgE mediated จะหายได้มากกว่าและเร็วกว่ากลุ่มที่เกิดจาก IgE mediated
ป้องกันอย่างไรไม่ให้ แพ้นมวัว?
1. ให้ลูกทานนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก
2. แม่ไม่จำเป็นต้องงดนมวัว แต่แม่ไม่ควรทานนมวัวมากกว่าปกติ (ให้ทานนมวัวในปริมาณเท่าๆ กับช่วงก่อนตั้งครรภ์)
3. ไม่แนะนำให้งดอาหารใดๆ ในช่วงตั้งครรภ์และให้นมบุตร
4. ถ้าไม่สามารถให้นมแม่ได้ หรือต้องการให้นมเสริมแนะนำให้ใช้ hypoallergenic formula (สูตร HA) หรือ partial hydrolysed formula (pHF) หรือ extensively hydrolysed formula (eHF) ก็ได้
นมชนิดต่างๆ สำหรับเด็กแพ้นมวัว * ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ได้แก่
นมสูตร hypoallergenic formula (สูตร HA) หรือ
partial hydrolysed formula (pHF) เช่น
NAN HA
Dumex HA
Enfa gentle care
Similac comfort
นมสูตร extensively hydrolysed formula (eHF) เช่น
Nutramigen LGG
Dumex Pepti
นมสูตร amino acid based formula เช่น
PurAmino
Neocate
นมสูตร Soy formula เช่น
Dumex Soy
Prosobee
Isomil
*การเลือกใช้นมชนิดต่างๆ ควรได้รับคำแนะนําจากแพทย์
บทความโดย
นพ. ณัฐพล ธรรมสกุลศิริ แพทย์ผิวหนังเด็ก
โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา
ปัญหาผิวลูกน้อยปรึกษาคุณหมอผิวหนังเด็กฟรี
นพ. ณัฐพล ธรรมสกุลศิริ แพทย์ผิวหนังเด็ก
โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา