
เมื่อลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่ร้องไห้โยเยขณะเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือผิวบริเวณก้นและขาหนีบมีรอยแดงจนมีอาการแสบคัน นั่นอาจเป็นสัญญาณของ “ผื่นผ้าอ้อม” หนึ่งในปัญหาผิวหนังที่พบบ่อยที่สุดในเด็กเล็ก แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่หากปล่อยไว้ อาการอาจรุนแรงขึ้นจนทำให้ลูกไม่สบายตัว งอแงมากขึ้น และส่งผลต่อพัฒนาการโดยรวมของเขาได้
ผื่นผ้าอ้อมเกิดจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ความอับชื้น การเสียดสี ไปจนถึงการติดเชื้อราและแบคทีเรีย แต่ข่าวดีคือ เราสามารถป้องกันและดูแลผิวลูกให้แข็งแรงได้ง่าย ๆ ด้วยวิธีที่ถูกต้อง
ในบทความนี้ จะพาคุณพ่อคุณแม่ไปทำความเข้าใจ สาเหตุของผื่นผ้าอ้อม วิธีดูแลรักษา และเคล็ดลับป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ เพื่อให้ลูกน้อยมีผิวเนียนนุ่ม ไร้การระคายเคือง และเติบโตอย่างมีความสุขครับ
ผื่นผ้าอ้อม (Diaper dermatitis) มีลักษณะเป็นอย่างไร?
ผื่นผ้าอ้อม จะมีลักษณะเป็นผื่นแดง ถ้าเป็นมากอาจมีรอยถลอก มีตุ่มน้ำ หากติดเชื้อรา ผื่นมักมีขอบเขตชัดเจนและอาจมีตุ่มหนองหากติดเชื้อแบคทีเรีย อาจมีหนอง แผลพุพอง หรือมีไข้ร่วมด้วย
ผื่นมักเริ่มจากส่วนที่สัมผัสผ้าอ้อม เช่น บริเวณอวัยวะเพศ ท้องน้อย ต้นขาด้านใน และก้น ช่วงแรกยังไม่มีผื่นบริเวณซอกขาหนีบ แต่เมื่อผื่นมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเป็นผื่นทั่วบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อม
ตัวอย่าง ผื่นผ้าอ้อมในเด็ก

จะมักเกิดในบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อม พบได้บ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กที่ยังใช้ผ้าอ้อมอยู่
ทำไมลูกจึงเป็น ผื่นผ้าอ้อม ?
สาเหตุของผื่นผ้าอ้อม
1. ความเปียกชื้น – ผ้าอ้อมที่เปียกชื้นนานเกินไป และปัสสาวะจะมีความเป็นด่างทำให้ผิวหนังระคายเคือง
2. การเสียดสี – ผ้าอ้อมที่รัดแน่นเกินไปอาจทำให้เกิดการเสียดสีและระคายเคือง
3. ปฏิกิริยาจากสารเคมี – น้ำหอม สารทำความสะอาดในผ้าอ้อม หรือผงซักฟอกอาจทำให้เกิดการแพ้
4. การติดเชื้อรา (Candida albicans) – พบบ่อยในผื่นผ้าอ้อมที่เป็นนานเกิน 3 วัน มักมีลักษณะเป็นผื่นแดงเข้มและมีขอบเขตชัดเจน
5. การติดเชื้อแบคทีเรีย – บางกรณีอาจเกิดจากแบคทีเรีย เช่น Staphylococcus หรือ Streptococcus ทำให้เกิดแผลพุพองหรือหนอง
6. อาหารและอุจจาระ – อาหารบางชนิด (เช่น อาหารที่มีกรดสูง) หรืออุจจาระซึ่งมีน้ำย่อยปนออกมาทำให้เกิดการระคายเคืองได้มากขึ้น
7. ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (Eczema) – เด็กที่มีผิวแพ้ง่ายอาจเป็นผื่นได้ง่ายขึ้น
ผื่นผ้าอ้อม รักษาอย่างไร?
แนะนำปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินอาการ การรักษาขึ้นกับความรุนแรงของผื่น ถ้าผื่นเล็กน้อยควรทาโลชั่น หรือครีมเคลือบผิว เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนังสัมผัสปัสสาวะอุจจาระโดยตรง แต่ผื่นอักเสบปานกลางถึงอักเสบมากแพทย์จะจ่ายยาทาสเตียรอยด์อ่อนๆ เช่น 1% hydrocortisone
ในบางกรณีอาจมีการติดเชื้อรา หรือแบคทีเรียแทรกซ้อนร่วมด้วย ก็ต้องให้ยาฆ่าเชื้อตามเชื้อที่ตรวจพบ เช่น ยาฆ่าเชื้อราได้แก่ Clotrimazole, ketoconazole, ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้แก่ fusidic acid, mupirocin ointment
วิธีดูแลและป้องกัน ผื่นผ้าอ้อม ?
1. เปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ – อย่าปล่อยให้เด็กใส่ผ้าอ้อมอับชื้นเป็นเวลานาน ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยๅ ทุก 4 ชั่วโมง เปลี่ยนผ้าอ้อมทันทีที่ปัสสาวะเต็ม ควรล้างทำความสะอาดทันทีที่ถ่ายอุจจาระ เพราะอุจจาระมีน้ำย่อยที่กัดผิว
2. ทำความสะอาดอย่างอ่อนโยน – ล้างทำความสะอาดด้วยสบู่ที่อ่อนโยน ปราศจากน้ำหอมและสารระคายเคือง หรือใช้น้ำอุ่นและสำลีเช็ดทำความสะอาด หลีกเลี่ยงการใช้ทิชชู่เปียกที่มีแอลกอฮอล์หรือสารระคายเคือง
3. ปล่อยให้ผิวแห้งก่อนใส่ผ้าอ้อม – ซับให้แห้งและปล่อยให้ผิวได้รับอากาศก่อนใส่ผ้าอ้อมใหม่
4. ใช้ครีมป้องกันผื่นผ้าอ้อม – เช่น ครีมที่มีซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide), โปรวิตามินบี 5 หรือแพนทีนอล (Panthenol) เพื่อสร้างเกราะป้องกันผิวทุกครั้งหลังเปลี่ยนผ้าอ้อม
5. เลือกใช้ผ้าอ้อมที่เหมาะสม ถ้าใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปควรเลือกชนิดที่ดูดซับน้ำปัสสาวะได้ดี หลีกเลี่ยงผ้าอ้อมที่รัดแน่นเกินไป และเลือกแบบที่ระบายอากาศได้ดี
6. ให้ผิวลูกได้มีเวลาหายใจโดยไม่ใส่ผ้าอ้อม – ปล่อยให้ผิวหนังสัมผัสอากาศบ้าง เช่น ลดการใช้ผ้าอ้อมช่วงกลางวัน
7. สังเกตปัจจัยกระตุ้น – หากสงสัยว่าอาหารบางชนิดกระตุ้นผื่น ให้สังเกตและหลีกเลี่ยง
8. หากใช้ผ้าอ้อมผ้า ควรซักให้สะอาด – ใช้ผงซักฟอกที่อ่อนโยนและหลีกเลี่ยงสารเคมีที่อาจทำให้แพ้
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ ?
• ผื่นไม่ดีขึ้นภายใน 3-4 วันหลังจากดูแลเบื้องต้น
• มีตุ่มหนอง แผลลึก หรือมีของเหลวไหลออกจากผื่น
• เด็กมีไข้ร่วมกับผื่น
• ผื่นลุกลามไปบริเวณอื่นของร่างกาย
• เด็กเจ็บหรือร้องไห้มากผิดปกติเมื่อสัมผัสบริเวณผื่น
ครีมทาผื่นผ้าอ้อม หรือทาแป้ง อะไรดีกว่า?
จากการวิจัยพบว่าการทาโลชั่น หรือครีมป้องกันผื่นผ้าอ้อมได้ผลดีกว่าการทาแป้งทั้งในด้านการป้องกันและรักษาผื่นผ้าอ้อม การทาแป้งนั้นถ้าเกลี่ยเนื้อแป้งไม่ดีจะทำให้เนื้อแป้งจับตัวเป็นก้อน เมื่อถูกความชื้นจะเสียดสีกับผิวหนังทำให้มีแผลถลอกได้ การสูดละอองแป้งที่มีส่วนผสมของทัลคัม (talcum) เข้าปอดเป็นเวลานานทำให้เป็นโรคปอดเรื้อรังได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการทาแป้งใกล้จมูกและปาก นอกจากนี้ แป้งทัลคัมอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ในเพศหญิงได้
บทความโดย
นพ. ณัฐพล ธรรมสกุลศิริ แพทย์ผิวหนังเด็ก
โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา

ปัญหาผิวลูกน้อยปรึกษาคุณหมอผิวหนังเด็กฟรี
นพ. ณัฐพล ธรรมสกุลศิริ รพ. พญาไทศรีราชา
ผลิตภัณฑ์แนะนำ
