แพ้อาหาร ลูกเป็นผื่น คัน ตาบวม ปากบวม ?

ปฏิกิริยาจากอาหาร แบ่งได้เป็น 2 ประเภท 

  1. แพ้อาหาร เกิดจากความผิดปกติในการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนในอาหาร มีอาการตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้
  2. ปฏิกิริยาอื่นที่ไม่ใช่การแพ้อาหาร ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน เช่น ทานนมแล้วท้องเสียเนื่องจากมีภาวะขาดน้ำย่อยน้ำตาลแลคโตส ท้องเสียจากพิษของแบคทีเรียในอาหาร ใจสั่นเมื่อทานกาแฟ เป็นต้น
แพ้อาหาร

กลไกการ แพ้อาหาร แบ่งได้ 3 แบบ 

  1. แพ้อาหารชนิด  “classic” หรือ มีกลไกผ่าน immunoglobulin E (IgE) 
  2. แพ้อาหารชนิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านทาน immunoglobulin E (non-IgE)
  3. แพ้อาหารชนิดผสม (Mixed type) คือกลไกการแพ้มีทั้งที่มีและไม่มีภูมิต้านทาน immunoglobulin E มาเกี่ยวข้อง

แพ้อาหารชนิด  “classic” หรือ มีกลไกผ่าน immunoglobulin E (IgE) 

ร่างกายจะสร้างสารภูมิต้านทานชนิด immunoglobulin E (IgE) ต่อโปรตีนในอาหาร เช่น คนแพ้ถั่ว ร่างกายจะมีการสร้าง IgE ต่อถั่วในการทานครั้งแรก แต่เมื่อทานถั่วครั้งต่อมาจะเกิดอาการแพ้ขึ้น ซึ่งอาการมักจะเกิดอย่างรวดเร็วตั้งแต่ไม่กี่นาทีถึงประมาณ 2 ชม. หลังทานถั่ว

อาการรุนแรง ?

อาการแพ้อาหารมีได้หลายแบบ ตั้งแต่เป็นน้อยๆ จนถึงอาการรุนแรงเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยที่เราไม่สามารถคาดเดาความรุนแรงของอาการในแต่ละครั้งได้ เช่น คนแพ้ถั่ว ครั้งก่อนทานแล้วมีแค่ผื่นลมพิษเพียงเล็กน้อย แต่การแพ้ครั้งต่อมาอาจมีอาการแพ้รุนแรงที่เรียกว่า anaphylaxis ได้เลยอย่างไรก็ตามอาการแพ้ในครั้งต่อไปไม่จำเป็นต้องแย่ลงเรื่อยๆ เสมอไป

อาการแพ้ที่พบบ่อย ?

แพ้อาหารทำให้เกิดอาการได้หลายระบบ เช่น

ผิวหนัง : ผื่นลมพิษ หน้าบวม ปากบวม ผื่นคัน ผื่นแดง

ตา : ตาบวม ตาแดง คันตา น้ำตาไหล

จมูกและปาก : คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม ลิ้นบวม ปากบวม

ปอดและลำคอ : แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจมีเสียงดังวี๊ด คอบวม คันในลำคอ

หัวใจ : หน้ามืด เป็นลม เวียนหัว หัวใจเต้นเร็วหรือช้าผิดปกติ ความดันต่ำ ช็อคหมดสติ

ทางเดินอาหาร : คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย

อาการแพ้รุนแรง anaphylaxis คืออะไร ?

เป็นภาวะฉุกเฉินซึ่งอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ มักมีอาการ 2 ระบบขึ้นไป เช่น ผื่นลมพิษร่วมกับหายใจลำบาก หน้าบวม ลิ้นบวม ปากบวม ใจสั่น หรือมีประวัติทานอาหารที่แพ้ร่วมกับมีความดันต่ำ ช็อคหมดสติ หัวใจหยุดเต้น อาการเหล่านี้มักเกิดในช่วงเวลาตั้งแต่ 5- 60 นาที หลังทานอาหารที่แพ้ อาหารที่มักทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงในเด็กคือถั่ว ในผู้ใหญ่มักเกิดจากการแพ้ถั่ว กุ้ง ปู หรือปลา

แพ้อาหาร


ภูมิแพ้จมูกอักเสบและเยื่อบุตาอักเสบ เกิดจากการแพ้อาหารได้ ?

ได้ อาการที่พบบ่อยได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม คันจมูก คันตา ตาแดง นำ้ตาไหล เสียงแหบและมักมีอาการทางระบบอื่นร่วมด้วย เช่น ผื่นลมพิษ ท้องเสีย หายใจลำบาก


ทานผักผลไม้สดแล้วปากบวม เกิดจากอะไร ?

อาการเช่นนี้เราเรียกว่า Oral allergy syndrome

แพ้อาหาร

เกิดในคนที่แพ้เกสรดอกไม้แล้วมีอาการแพ้หลังทานผักผลไม้สด ทานแล้วมีอาการคันปาก ปากบวม ลิ้นบวม ลำคอบวมได้ ซึ่งส่วนใหญ่อาการมักหายได้เองหลังหยุดทานผักผลไม้นั้น ส่วนน้อย 10% อาจมีการทางระบบอื่นร่วมด้วย เช่น อาเจียน ถ่ายเหลว แต่อีก 1-2% อาจมีอาการแพ้รุนแรง anaphylaxis ได้ถ้าผักผลไม้ถูกปรุงให้สุกจะไม่ทำให้เกิดอาการ  ยกเว้นถั่วถึงแม้ทำให้สุกแล้วก็ทำให้เกิด oral allergy syndrome ได้

แพ้อาหารชนิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านทาน immunoglobulin E (non-IgE)

อาการมักเกิดช้ากว่าแพ้อาหารชนิด classic หรือมี IgE มาเกี่ยวข้อง มี 3 กลุ่มได้แก่ 

  1. ลำไส้อักเสบจากการแพ้โปรตีนในอาหาร (พบบ่อยในวัยทารก)
  2. ทวารหนักอักเสบจากการแพ้โปรตีนในอาหาร
  3. โรค Celiac และ โรคผิวหนัง dermatitis herpetiformis ซึ่งคนไทยพบน้อย

แพ้อาหารชนิดผสม (Mixed type) คือกลไกการแพ้มีทั้งที่มีและไม่มีภูมิต้านทาน immunoglobulin E มาเกี่ยวข้อง 

เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis), หลอดอาหารอักเสบ (eosinophilic esophagitis), ลำไส้อักเสบจากแพ้โปรตีน (food protein-induced enterocolitis syndrome (FPIES)


การวินิจฉัย ?

การทดสอบหาอาหารที่แพ้ ใช้เพื่อตรวจหาการแพ้อาหารซึ่งผ่านกลไกที่มี IgE มาเกี่ยวข้อง มี 2 แบบ คือ

  • การทดสอบผิวหนัง Skin test วิธีนี้ใช้เข็มขนาดเล็ก ทำการทดสอบบริเวณท้องแขน หรือหลัง จำเป็นต้องหยุดยาแก้แพ้อย่างน้อย 1 สัปดาห์ อ่านผลที่ 15 นาทีหลังทดสอบ ทราบผลได้ทันที
  • ตรวจเลือดหาสารที่แพ้ Bold test ไม่จำเป็นต้องหยุดยา แต่ต้องรอผลตรวจประมาณ 1-2 สัปดาห์


การทดลองหยุดอาหารที่แพ้ 

คือให้หยุดอาหารที่สงสัยว่าจะแพ้แล้วสังเกตอาการว่าดีขึ้นหรือไม่ การงดอาหารในเด็กเล็กควรปรึกษาแพทย์ หรือนักโภชนาการ เพราะอาจทำให้ขาดสารอาหารบางชนิดได้ การอ่านส่วนประกอบของอาหารที่ทานเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้


การวินิจฉัยการแพ้อาหารที่น่าเชื่อถือที่สุดคือ Oral food challenge test (ทดสอบโดยให้ลองทานอาหารที่สงสัยว่าจะแพ้) 

ในกรณีที่ประวัติ และการทดสอบหาอาหารที่แพ้แล้วยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน หรือกรณีที่แพทย์มองว่าผู้ป่วยน่าจะหายจากการแพ้อาหารชนิดนั้นๆ แล้ว แพทย์จะทำการทดสอบที่คลินิก หรือ รพ. ที่มีอุปกรณ์พร้อมให้การรักษาในกรณีที่เกิดอาการแพ้ขึ้นมา แพทย์จะทานอาหารที่สงสัยว่าแพ้ในปริมาณน้อยๆ ก่อน และสังเกตอาการ 10-30 นาที ถ้าไม่มีอาการแพ้เกิดขึ้นจึงให้ทานอาหารชนิดนั้นเพิ่มขึ้นทีละน้อย สังเกตอาการจนครบ 90 นาที แต่ถ้ามีอาการแพ้จะหยุดทดสอบทันที


วิธีการรักษา ? 

ต้องงดอาหารที่แพ้ อ่านส่วนประกอบของอาหารเพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ 

แพ้นม

แพ้นมวัวในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ต้องเปลี่ยนนมเป็นสูตรพิเศษโปรตีนผ่านการย่อยแล้ว Extensive hydrolysated, สูตรอะมิโน Amino acid formula หรือ นมถั่วเหลือง Soy formula ในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป (ต้องไม่แพ้ถั่วเหลืองร่วมด้วย) ไม่สามารถให้ทานนมแพะได้เพราะโครงสร้างโปรตีนเหมือนนมวัว ลูกแพ้นมวัวจึงแพ้นมแพะด้วยแพ้อาหารบางชนิดหายได้เมื่อลูกโตขึ้น เช่น แพ้นมวัว แพ้ไข่ แต่ถ้าแพ้ถั่ว หรืออาหารทะเล มักแพ้ตลอดชีวิตการรักษาทางยา เช่น

ยารับประทานแก้แพ้กลุ่ม anti-histamine, ยาทาผื่นคันชนิดมีสเตียรอยด์ ชนิดไม่มีสเตียรอยด์ 

โลชั่น ให้ความชุ่มชื้นและลดการอักเสบกรณีเป็นผื่นร่วมด้วย เช่นในโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

กรณีแพ้รุนแรงanaphylaxis แพทย์จะให้ผู้ป่วยหรือพ่อแม่พกยา adrenaline แบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และสอนการฉีดยาเมื่อมีอาการแพ้รุนแรงเกิดขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้จึงจำเป็นต้องได้รับยาโดยเร็วที่สุด และรีบนำส่ง รพ. ที่ใกล้ที่สุด 

อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม…

บทความโดย 

นพ. ณัฐพล  ธรรมสกุลศิริ แพทย์ผิวหนังเด็ก

โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา 

ปัญหาผิวลูกน้อยปรึกษาคุณหมอผิวหนังเด็กฟรี

นพ. ณัฐพล ธรรมสกุลศิริ แพทย์ผิวหนังเด็ก

โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา

เข้ากลุ่มปรึกษาคลิกที่นี่

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์คลิกที่