โรคสะเก็ดเงินในเด็ก

โรคสะเก็ดเงินในเด็ก คืออะไร?

โรคสะเก็ดเงินในเด็ก (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดรอยโรคเป็นผื่นแดง มีขุยสีขาวหรือเงินปกคลุม พบได้ในทุกช่วงวัย แม้แต่ในเด็กก็สามารถเป็นโรคนี้ได้ แม้ว่าอัตราการเกิดโรคสะเก็ดเงินในเด็กจะน้อยกว่าผู้ใหญ่ก็ตาม

โรคสะเก็ดเงินในเด็ก

อาการของ โรคสะเก็ดเงินในเด็ก

อาการของโรคสะเก็ดเงินในเด็กมักคล้ายกับผู้ใหญ่ แต่อาจมีลักษณะที่แตกต่างกันเล็กน้อย ได้แก่

  1. เป็นผื่น แผ่นหนา สีแดง มีขุยสีขาว หรือสีเงินบริเวณข้อศอก หัวเข่า และลำตัว
  2. ผื่นกลมเล็กๆ กระจายตามตัว มักพบในเด็ก สัมพันธ์กับการคิดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus เช่น คออักเสบ 
  3. สะเก็ดเงิน บนหนังศรีษะ 
  4. สะเก็ดเงิน บริเวณซอกพับ เช่น รักแร้ ขาหนีบ บริเวณที่ใส่ผ้าอ้อม หรือรอบสะดือ มักพบในเด็กทารก 
  5. สะเก็ดเงินที่เล็บ เล็บเป็นหลุมเล็กๆ ขรุขระ เล็บหนา
  6. แบบตุ่มหนอง กระจายทั่วตัว

อาการคันหรือแสบผิว บางรายอาจมีอาการคันรุนแรง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต

อาการแทรกซ้อน ในบางรายอาจมีการอักเสบของข้อต่อร่วมด้วย (Psoriatic Arthritis)

โรคสะเก็ดเงินในเด็ก

สาเหตุและปัจจัยกระตุ้น

โรคสะเก็ดเงินในเด็กไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อหรือการแพร่กระจายจากคนสู่คน แต่เป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

โรคสะเก็ดเงินในเด็ก

1. พันธุกรรม

หากพ่อแม่หรือสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคสะเก็ดเงิน เด็กก็มีโอกาสสูงที่จะได้รับถ่ายทอดทางพันธุกรรม

2. ระบบภูมิคุ้มกัน

โรคสะเก็ดเงินเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเร็วกว่าปกติและสะสมเป็นขุย

3. ปัจจัยกระตุ้น

• การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย เช่น คออักเสบจากเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส อาจกระตุ้นให้เกิดโรคสะเก็ดเงินในเด็ก

• ความเครียด เด็กที่มีความเครียดสูงอาจมีอาการของโรคสะเก็ดเงินกำเริบ

• บาดแผลหรือการระคายเคืองผิวหนัง การเกา แผลถลอก หรือแม้แต่ผื่นผ้าอ้อมอาจกระตุ้นให้เกิดโรคได้

• สภาพอากาศ อากาศแห้งและหนาวเย็นอาจทำให้ผิวแห้งและทำให้อาการแย่ลง

วิธีดูแลและรักษา โรคสะเก็ดเงินในเด็ก

แม้ว่าโรคสะเก็ดเงินจะเป็นโรคเรื้อรังที่ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

1. การใช้ยาทาภายนอก

• คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ยาลดการอักเสบที่ใช้บรรเทาอาการของโรคสะเก็ดเงิน

• วิตามินดีสังเคราะห์ (Calcipotriol, Calcitriol) ช่วยชะลอการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง

• มอยส์เจอไรเซอร์ เพื่อป้องกันผิวแห้งและลดอาการคัน

2. การรักษาด้วยแสง (Phototherapy)

ใช้แสงอัลตราไวโอเลต (UVB) เพื่อช่วยชะลอการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก

3. การใช้ยารับประทานหรือยาฉีด (ในกรณีรุนแรง)

หากอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาใช้ยา เช่น

• Methotrexate หรือ Cyclosporine เพื่อลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

• ชีววัตถุ (Biologic drugs) เช่น Adalimumab หรือ Etanercept สำหรับเด็กที่มีอาการรุนแรงและดื้อต่อการรักษาแบบอื่น

โรคสะเก็ดเงินในเด็ก

เคล็ดลับดูแลเด็กที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน

• หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนจัด เพราะจะทำให้ผิวแห้งและอาการแย่ลง

• ใช้สบู่หรือครีมอาบน้ำที่อ่อนโยน หลีกเลี่ยงสารเคมีที่ระคายเคือง

• ให้เด็กทาครีมบำรุงผิวเป็นประจำ เพื่อป้องกันผิวแห้ง

• ส่งเสริมสุขภาพจิต โรคสะเก็ดเงินอาจส่งผลต่อความมั่นใจของเด็ก ผู้ปกครองควรให้กำลังใจและช่วยให้เด็กปรับตัวกับโรค

• หลีกเลี่ยงอาหารกระตุ้นอาการ เช่น อาหารแปรรูป น้ำตาลสูง หรืออาหารที่ทำให้เกิดการอักเสบ

สรุป

โรคสะเก็ดเงินในเด็กเป็นภาวะที่ต้องการความเข้าใจและการดูแลอย่างถูกวิธี แม้ว่าจะเป็นโรคเรื้อรัง แต่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยการรักษาอย่างเหมาะสมและการดูแลสุขภาพผิวที่ดี ผู้ปกครองควรสังเกตอาการของลูกและปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและมั่นใจ

บทความโดย 

นพ. ณัฐพล  ธรรมสกุลศิริ แพทย์ผิวหนังเด็ก

โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา 

อ่าน​บทความ​อื่น​ๆ​ เพิ่ม​เติม… 

ไขปัญหาผิวเด็กกับหมอณัฐ

ปรึกษาคุณหมอผิวหนังเด็กฟรี​ 

นพ.​ ณัฐ​พล​ ธรรม​สกุล​ศิริ​

รพ.​ พญาไท​ศรีราชา

เข้ากลุ่มปรึกษา คลิกเลย…

ผลิตภัณฑ์​แนะ​นำ

สั่งซื้อคลิกเลย/Buy

Set A