ลมพิษ เฉียบพลัน กับ ลมพิษ เรื้อรัง เกิดจากอะไร ? เป็นโรคติดต่อหรือไม่ ?
ลมพิษ (urticaria)
ลมพิษเป็นผื่นนูนแดงคัน ไม่ใช่โรคติดต่อ เริ่มต้นจากผื่นแดง ต่อมาบวมนูนแดง เป็นรูปวงกลม วงรี วงแหวน หรือผื่นเป็นปื้นต่อๆ กัน ผื่นมักเป็นๆ หายๆ ย้ายที่ไปเรื่อยๆ แต่ละผื่นมักหายภายใน 24 ชม. แต่จะมีผื่นที่ขึ้นใหม่มาแทน ถ้าเป็นในผิวหนังชั้นลึกขึ้นหรือเป็นในบริเวณเยื่อบุจะเรียกว่าเป็น angioedema เช่น ตาบวม ปากบวม แต่ถ้ามีหายใจลำบาก หายใจมีเสียงวี๊ด และความดันต่ำ ช็อค ถือเป็นอาการแพ้รุนแรง anaphylaxis อันตรายถึงชีวิตได้
ลมพิษเฉียบพลัน กับ ลมพิษเรื้อรัง? สาเหตุเกิดจากอะไร?
ถ้ามีอาการไม่เกิน 6 สัปดาห์เป็นลมพิษเฉียบพลัน แต่ถ้าเป็นนานกว่า 6 สัปดาห์เป็นลมพิษเรื้อรัง ซึ่งสาเหตุจะต่างกัน
ลมพิษเฉียบพลัน
50% ไม่ทราบสาเหตุ ที่เหลือส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด ติดเชื้อไวรัส ลำไส้อักเสบ สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ แพ้ยา แพ้อาหาร เช่น นมวัว ไข่ ถั่ว แป้งสาลี ปลาและอาหารทะเล บางคนแพ้สารกันบูด เช่น sodium benzoate หรือสีผสมอาหาร เช่น tartrazine
ลมพิษเรื้อรัง
30-50% ไม่ทราบสาเหตุ แต่พบว่าระบบภูมิต้านทานทำงานผิดปกติคือ สร้างภูมิต้านทานต่อตัวรับบนผิวเม็ดเลือดขาวที่ชื่อ mast cell ซึ่งเม็ดเลือดขาวนี้จะปล่อยสาร histamine ทำให้เกิดผื่นลมพิษขึ้นมา 15% เกิดจากการกระตุ้นทางกายภาพ เช่น สัมผัสความเย็น แสงแดด ความร้อน รอยกดทับ เช่น มีผื่นลมพิษตามแนวขอบกางเกง ถุงเท้าน้อยกว่า 10% ที่เหลือ มีสาเหตุจากยา อาหาร การติดเชื้อเรื้อรัง เช่น แบคทีเรีย พยาธิ
การตรวจเพิ่มเติม
มักไม่จำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมทุกคน ยกเว้นมีประวัติอาการที่สัมพันธ์กับการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ หรือทานอาหารที่สงสัยว่าจะแพ้ สามารถตรวจได้มี 2 วิธี คือ
1. การทดสอบผิวหนัง Skin test วิธีนี้ใช้เข็มขนาดเล็ก ทำการทดสอบบริเวณท้องแขน หรือหลัง จำเป็นต้องหยุดยาแก้แพ้อย่างน้อย 1 สัปดาห์ อ่านผลที่ 15 นาทีหลังทดสอบ ทราบผลได้ทันที
2. ตรวจเลือดหาสารที่แพ้ Blood test ไม่จำเป็นต้องหยุดยา แต่ต้องรอผลตรวจประมาณ 1-2 สัปดาห์
การตรวจอื่นๆ เช่น ตรวจหาการติดเชื้อ และตรวจหาโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง (autoimmune diseases)
วิธีรักษาลมพิษ
ให้รับประทานยาแอนติฮิสทามีน และหลีกเลี่ยงสาเหตุหรือรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ
ยาแอนติฮิสทามีนมี 3 กลุ่ม คือ
1. ยาแอนติฮิสทามีนรุ่นแรก ได้แก่ chlorpheniramine, hydroxyzine ได้ผลดีแต่ทำให้ง่วงนอน และมีปากแห้ง คอแห้งได้
2. ยาแอนติฮิสทามีนรุ่นที่ 2 ได้แก่ cetirizine, loratadine และ fexofenadine ได้ผลดีเช่นเดียวกัน แต่ง่วงน้อยกว่า ผลข้างเคียงน้อยกว่า และรับประทานเพียงวันละครั้ง
3. ยาแอนติฮิสทามีนรุ่นที่ 3 ได้แก่ levocetirizine และdesloratadine มีประสิทธิภาพดีขึ้น และผลข้างเคียงน้อยกว่ารุ่นที่ 1 และ 2
ยาทา
ให้ทาด้วยคาลาไมน์โลชั่นเพื่อช่วยลดอาการคัน แต่ควรทานยาแอนติฮิสทามีนร่วมด้วย
จะหายเมื่อไหร่?
ลมพิษเฉียบพลันส่วนใหญ่มักหายภายใน 1-2 สัปดาห์ ส่วนลมพิษเรื้อรังที่ไม่ทราบสาเหตุ มักเป็นๆ หายๆ ได้หลายปี
อ่านบทความอื่นๆ
บทความโดย
นพ. ณัฐพล ธรรมสกุลศิริ แพทย์ผิวหนังเด็ก
โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา
ปัญหาผิวลูกน้อยปรึกษาคุณหมอผิวหนังเด็กฟรี
นพ. ณัฐพล ธรรมสกุลศิริ แพทย์ผิวหนังเด็ก
โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา