ลูก แพ้นมวัว คุณ​พ่อ​คุณ​แม่​บาง​ท่าน​กำลัง​มีปัญหา​กลุ้มใจ​ เมื่อ​ลูก​น้อย​มี​ผื่นตามตัว​ อาเจียน​ ท้อง​เสีย​ หรือ​หาย​ใจ​ครืด​คราด​ และ​สงสัย​ว่า​ลูก​แพ้​นมวัว​หรือเปล่า? เราจะ​รู้​ได้​อย่างไร​ว่า​ลูก​เรา​แพ้​นมวัว​จริงๆ​ แล้ว​ถ้า​ลูก​แพ้​นมวัว​ต้อง​ทานนม​อะไร​แทน​? 

แพ้นมวัว

อาการ แพ้นมวัว ส่วนใหญ่จะพบมากกว่า 2 อาการ และมากกว่า 2

ระบบขึ้นไป ได้​แก่​

ระบบ​ผิวหนังเช่น​ ผื่น​ภูมิแพ้​ผิวหนัง​ ผื่น​ลมพิษ​ ปาก​บวม​ ตาบวม​ 

ระบบทางเดิน​อาหาร​ เช่น​ อาเจียน​ กรดไหล​ย้อน​ ลำไส้อักเสบ​ ท้องเสีย​ ถ่าย​เป็น​มูกเลือด​ 

ระบบทางเดินหายใจ เช่น​ คัดจมูก​ น้ำมูก​ไหล​ หายใจ​ครืด​คราด​ ไอ​ หอบ​ 

ภาวะ​แพ้​นมวัว​ชนิด​รุนแรง​ anaphylaxis พบ​ได้​น้อย​ แต่​เป็นภาวะฉุกเฉินซึ่งอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ มักมีอาการ 2 ระบบขึ้นไป เช่น ผื่นลมพิษร่วมกับหายใจลำบาก หน้าบวม ลิ้นบวม ปากบวม ใจสั่น หรือมีประวัติทานนมวัว​ร่วมกับมีความดันต่ำ ช็อคหมดสติ หัวใจหยุดเต้น อาการเหล่านี้มักเกิดในช่วงเวลาตั้งแต่ 5- 60 นาที หลังทานนมวัว​การแพ้นมวัวนั้นเกิดจาก​ร่างกาย​สร้าง​สาร​ภูมิ​ต้านทาน​ที่​มี​ชื่อ​ว่า​ immunoglobulin E​ (IgE)​ ต่อ​โปร​ตีน​นมวัว​หรือ การ​แพ้​นมวัว​ชนิด​ที่​ไม่​ได้​เกี่ยวข้อง​กับ​ IgE​ (non IgE mediated) ก็ได้​ หรือร่วมกันทั้ง 2 อย่าง 

ปัจจัยเสี่ยง​ที่​ทำให้​ลูก​แพ้​นมวัว​? 

พบว่าการที่มารดาทาน​นมวัวในปริมาณ​มาก​ขึ้น​ตั้งแต่เดือนที่ 4 ของการตั้งครรภ์จะทำให้เกิดภาวะแพ้นมวัวของทารกในครรภ์​ และเมื่อทารกคลอดและได้รับนมวัวก็จะกระตุ้นให้แสดงอาการแพ้นมวัว​ออกมาในช่วงวัยทารก​ ระบบย่อยอาหารในเด็กทารกนั้นยังพัฒนาไม่สมบูรณ์​และยังไม่มีการสร้างสารภูมิ​ต้านทาน​ที่​เรียกว่า​ “secretory IgA” ทำให้​มี​โปร​ตีน​นมวัว​โมเลกุล​ใหญ่​เข้า​ไป​กระตุ้น​ให้​เกิด​การ​แพ้​นมวัว​

แพ้​นมวัว​ วินิจฉัยอย่างไร? 

การวินิจฉัยโรคโดยมากจะอาศัยจากประวัติเป็นสำคัญ ได้แก่

1. มีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัวโดยเฉพาะพ่อ​แม่​ หรือ​พี่​น้อง​

2. อาการ​แพ้นมวัว​มักจะเริ่มภายในระยะเวลา​หลาย​วัน​จนถึง​หลาย​สัปดาห์​ หลังจากเด็กได้รับประทานนมวัวและขึ้นกับปริมาณนมวัวที่ได้รับ

3. มัก​มีอาการมากกว่า 2 อาการ และมากกว่า 2 ระบบขึ้นไปและอาการเรื้อรังเป็นๆหายๆ

4. แม่ทานนมวัวในช่วงตั้งครรภ์มากกว่าปกติ​ ทำให้​โปรตีนนมวัวที่แม่ทานจะผ่านจากแม่ไปกระตุ้นการแพ้นมวัว​ในทารกได้

5. เด็กที่​ทานนมแม่อย่างเดียว แม่มัก​ทานนมวัวมากกว่าปกติในขณะให้นมลูก​

6. เด็กมักจะมีน้ำหนักน้อย​ เลี้ยง​ไม่​โต​ ทานนมน้อยเปลี่ยนนมบ่อย​

การ​ตรวจ​เพิ่มเติม? 

การทดสอบทางผิวหนัง​ skin test หรือ​ การ​ตรวจ​เลือด​blood test จะได้ประโยชน์ในกลุ่ม​แพ้​นมวัว​ที่​เกิดจาก IgE-mediated เช่น​ ผื่น​ลมพิษ​ ตาบวม​ ปาก​บวม​ น้ำมูก​ หายใจ​ครืด​ ไอ​ หอบ​ แต่​สำหรับ​ผื่น​ภูมิแพ้​ผิว​หนัง​ที่​แพ้​นมวัว​ร่วม​ด้วย​ (กลไก​เป็น​แบบ​ผสม​ มี​ทั้ง​ IgE และ​ non-IgE) การ​แปล​ผล​ค่อนข้าง​ซับซ้อน​ คือ​ระดับ​ตัวเลข​ยิ่งสูง​ยิ่ง​มี​โอกาส​แพ้​มาก​ แต่​ตัว​เลข​น้อย​ๆ​ อาจแพ้​หรือ​ไม่​แพ้​ก็​ได้​ และระดับ​ตัว​เลข​ไม่​สัมพันธ์​กับ​ความ​รุน​แรง​ของ​อาการ​แพ้​ สำหรับ​การ​แพ้​นมวัว​ชนิด​ non-IgE เช่น​ กลุ่ม​ลำไส้​อักเสบ​และ​ทวารหนัก​อักเสบ​จาก​การ​แพ้​โปรตีน​นมวัว​การวินิจฉัยมาตรฐานคือ​ การทดสอบให้เด็กทาน​นมวัวและสุ่มเทียบกับอาหารที่ไม่แพ้ (DBPCFC test) 

แพ้นมวัว รักษาอย่างไร ?

1. ต้อง​งดนมวัวและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัวทุกชนิดอย่างน้อย 1 ปี และค่อยๆกลับมาทดลองรับประทานดูใหม่ 

2. ถ้า​ทานนมแม่ร่วมด้วยอยู่แล้วก็ให้ทานนมแม่ต่อไปได้​โดยที่แม่ต้องงดนมวัวและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัวทุกชนิดด้วยเช่นกัน 

3. ถ้า​ต้อง​การ​ให้​นม​เสริม​แนะนำให้ใช้นมสำหรับ​เด็ก​แพ้​นมวัว​สูตร​ extensively hydrolysed formula (eHF), amino acid based formula (กรณี​​สูตร​แรก​ไม่ได้​ผล)​ หรือนมถั่วเหลือง (soy formula, สำหรับ​ทารก​อายุ​ 6 เดือน​ขึ้นไป​และ​ไม่​แพ้​ถั่วเหลือง)

แพ้​นมวัว​ ทานนมแพะได้​หรือไม่? 

คำ​ตอบ​คือ​ ไม่​ได​้​ เพราะ​นม​แพะ​มี​โครงสร้าง​โปรตีน​เหมือน​นมวัว​ ดังนั้น​ถ้า​แพ้​นมวัว​ก็​จะ​

แพ้​นม​แพะ​ด้วย​

แพ้​นมวัว​ จะหาย​เมื่อไหร่? 

อาการจะค่อยๆ​ หายไปเมื่อโตขึ้นคือ​ 

หาย 45-56 % เมื่ออายุ​ 1 ปี 

หาย​ 60-77 % เมื่ออายุ​ 2 ปี 

หาย​ 84-87 % เมื่ออายุ​ 3 ปี 

และหาย 90-95 % เมื่ออายุ 5-10 ปี 

และ​พบว่ากลุ่ม​แพ้​นมวัว​ที่เกิดจาก Non-IgE mediated จะหายได้มากกว่าและเร็วกว่ากลุ่มที่เกิดจาก IgE mediated

ป้องกันอย่างไรไม่​ให้​ แพ้​นมวัว​? 

1. ให้​ลูก​ทานนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก 

2. แม่ไม่จำเป็นต้องงดนมวัว​ แต่​แม่​ไม่ควร​ทาน​นมวัว​มาก​กว่า​ปกติ​ (ให้​ทานนมวัว​ใน​ปริมาณ​เท่า​ๆ​ กับ​ช่วงก่อน​ตั้ง​ครรภ์)​

3. ไม่แนะนำให้​งดอาหารใดๆ​ ในช่วงตั้งครรภ์และให้นมบุตร 

4. ถ้าไม่สามารถให้นมแม่​ได้ หรือ​ต้องการ​ให้​นม​เสริม​แนะนำให้ใช้ hypoallergenic formula (สูตร​ HA) หรือ partial hydrolysed formula (pHF) หรือ​​ extensively hydrolysed formula (eHF) ก็ได้​ 

นมชนิดต่าง​ๆ​ สำหรับ​เด็ก​แพ้​นมวัว​ * ที่​มี​จำหน่าย​ใน​ท้องตลาด​ ได้​แก่​

นมสูตร​ hypoallergenic formula (สูตร​ HA) หรือ

partial hydrolysed formula (pHF) เช่น​ 

NAN HA 

Dumex HA

Enfa gentle care

Similac comfort

นม​สูตร​ extensively hydrolysed formula (eHF) เช่น

Nutramigen LGG

Dumex​ Pepti

นมสูตร​ amino acid based formula เช่น

PurAmino

Neocate​

นมสูตร​ Soy formula เช่น

Dumex Soy

Prosobee

Isomil

*การ​เลือก​ใช้​นมชนิด​ต่าง​ๆ​ ควร​ได้รับ​คำ​แนะนํา​จาก​แพทย์​

อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม…

บทความโดย 

นพ. ณัฐพล  ธรรมสกุลศิริ แพทย์ผิวหนังเด็ก

โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา 

ปัญหาผิวลูกน้อยปรึกษาคุณหมอผิวหนังเด็กฟรี

นพ. ณัฐพล ธรรมสกุลศิริ แพทย์ผิวหนังเด็ก

โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา

เข้ากลุ่มปรึกษาคลิกที่นี่

สนับสนุนโดย Dermollient

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์คลิกที่นี่

Facebook Comments