แผลติดเชื้อแบคทีเรีย (Impetigo)
แผลติดเชื้อแบคทีเรีย สมัยก่อนเราอาจเคยได้ยินคำว่า “น้ำเหลืองไม่ดี”, “น้ำเหลืองเสีย” แท้ที่จริงแล้วเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังที่มีชื่อว่า Staphylococcus หรือ Streptococcus โดยแผลมักเริ่มต้นจากรอยถลอกจากอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย หรือการเกาจากผื่นแพ้แมลงกัดต่อย ซึ่งเราอาจไม่ทันสังเกตเห็น
แผลติดเชื้อแบคทีเรีย มีลักษณะของผื่นเป็นอย่างไร?
เริ่มจากผื่นตุ่มแดงเล็กๆ กลายเป็นตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง เมื่อแตกออกจะมีคราบน้ำเหลือง น้ำหนอง และตกสะเก็ดเป็นแผล ถ้าทิ้งไว้ไม่ได้รักษาแผลจะลึกมากขึ้นได้ อาจลุกลามติดเชื้อลึกลงไปในชั้นไขมันใต้ผิวหนัง หรือเข้ากระแสเลือดได้ซึ่งอันตรายมาก
แผลติดเชื้อแบคทีเรีย รักษาอย่างไร?
ถ้ามีแผลเพียงเล็กน้อย แผลตื้นๆ ไม่ลึก ให้ทำแผลเอาหนองและน้ำเหลืองออก ทายาฆ่าเชื้อ mupirocin ointment หรือ fucidic acid cream/ointment ทาประมาณ 5-7 วัน และฟอกแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น chlorhexidine scrubแต่ถ้ามีแผลจำนวนมาก หรือแผลลึก ต้องรับประทานยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย เช่น cloxacillin, cephalexin หรือ erythromycin (กรณีแพ้ยากลุ่ม penicillin)
จะเป็นแผลเป็นหรือไม่?
ถ้าแผลตื้นๆ (Impetigo) แผลจะหายโดยไม่มีแผลเป็น แต่มักจะมีรอยดำ ขาลาย ได้หลายเดือน รอยดำจะค่อยๆ จางไปเองได้ แต่ต้องป้องกันไม่ให้มีแผลใหม่เกิดขึ้น เพราะจะมีรอยดำใหม่เกิดขึ้นมาอีก ทำให้รู้สึกว่ารอยดำไม่หายสักทีถ้าแผลลึก (Ecthyma) มักมีแผลเป็นเกิดขึ้น และทิ้งรอยดำเช่นเดียวกัน แผลลึกมักเกิดจากการที่มีแผลในระยะแรกแล้วไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียลึกลงไปในชั้นหนังแท้ เวลาแผลหายจึงมักเกิดแผลเป็นขึ้นมา
วิธีป้องกันทำได้อย่างไร?
- ในเด็กบางคนที่มีแผลติดเชื้อแบคทีเรียบ่อยๆ แนะนำให้ใช้ไม้พันสำลีป้ายยาฆ่าเชื้อ mupirocin ointment หรือ fucidic acid cream/ointment ในรูจมูกทั้ง 2 ข้าง เป็นเวลา 5 วัน เพื่อกำจัดเชื้อที่มักแฝงอยู่ที่รูจมูก จะช่วยลดการเป็นซ้ำได้
- หมั่นดูแลเรื่องความสะอาด ล้างมือบ่อยๆ เพราะเชื้อโรคเหล่านี้มักติดมาตามนิ้วมือ หากเกาจนเกิดแผลถลอกเล็กน้อยก็ทำให้ติดเชื้อได้
- ป้องกันแมลงกัดต่อย เช่นยุงกัด มดกัด เพราะเวลาเด็กเกามักจะเกาจนมีแผลเลือดออก
- ดูแลอย่าให้ผิวแห้ง เนื่องจากผิวแห้งจะทำให้คัน และเกาจนมีแผลติดเชื้อ ควรทาโลชั่นให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังเป็นประจำ เลือกโลชั่นที่อ่อนโยนสำหรับผิวแพ้ง่าย ไม่มีน้ำหอม และมีสารที่ช่วยลดการอักเสบและการคัน
บทความโดย
นพ. ณัฐพล ธรรมสกุลศิริ แพทย์ผิวหนังเด็ก
โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา
ปัญหาผิวลูกน้อยปรึกษาคุณหมอผิวหนังเด็กฟรี
นพ. ณัฐพล ธรรมสกุลศิริ แพทย์ผิวหนังเด็ก
โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา