ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง Atopic dermatitis ผื่นคัน ผื่นแพ้ ผิวอักเสบที่พบบ่อยในทารก จะรักษาอย่างไร ? วิธีการดูแลผิว ?
ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis หรือ atopic eczema) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง มีลักษณะเป็นผื่นแดง แห้ง คันเป็นๆ หายๆ ที่พบบ่อย ในเด็ก อาจมีอาการภูมิแพ้อื่นๆ ร่วมด้วยเช่น ภูมิแพ้จมูกอักเสบ และ/หรือโรคหืด โรคนี้มีผลต่อคุณภาพชีวิต เนื่องจากเด็กอาจมีอาการคันมากจนนอนไม่หลับ ซึ่งมีผลกระทบต่อพ่อแม่ ในเด็กโตอาจรู้สึกอายเพื่อน หรือมีผลต่อการเรียนได้
ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มีอาการอย่างไร ?
มีลักษณะเป็นผื่นแดง ผิวแห้ง คันมาก เป็นๆ หายๆ อาจมีตุ่มน้ำเล็กๆ ถ้าเป็นนานๆ ผื่นอาจจะหนาขึ้น ในเด็กตั้งแต่วัย 2-3 เดือนจนถึง 2 ปีมักมีผื่นที่แก้มและด้านนอกของแขนขา เมื่อเด็กโตขึ้นจะมีผื่นที่ข้อพับแขน ข้อพับขา คอ และข้อมือ และอาจเกาจนมีแผลถลอก ติดเชื้อแบคทีเรียตามมาได้
ทำไมลูกจึงเป็น ?
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่เชื่อว่าน่าจะเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน คือปัจจัยทางพันธุกรรมที่มีผลทำให้โครงสร้างของผิวหนังผิดปกติ ผิวหนังสร้างความชุ่มชี้นได้น้อยกว่าปกติ ทำให้ผิวแห้ง, ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ร่วมกับสารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อม เป็นตัวกระตุ้น
ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง กับปัจจัยกระตุ้น?
- การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว เช่น สบู่ ผงซักฟอก หรือแอลกอฮอล์
- การอาบน้ำอุ่นมากเกินไปทำให้ผิวแห้ง
- การเกา ยิ่งเกามาก ผื่นยิ่งเห่อมาก
- การติดเชื้อโรคที่ผิวหนัง เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส
- ในเด็กเล็ก อาจแพ้อาหารบางชนิด ซึ่งกระตุ้นให้ผื่นเห่อได้ เช่น นมวัว ไข่ แป้งสาลี ถั่วเหลือง ถั่วลิสง หรืออาหารทะเล อ่านเรื่องแพ้อาหารเพิ่มเติม…
- สารก่อภูมิในอากาศ เช่นไรฝุ่น เชื้อรา แมลงสาบ ขนสุนัข ขนแมว ละอองหญ้า ทำให้ผื่นกำเริบได้
- ในเด็กโต ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ อาจทำให้ผื่นเห่อได้
ลูกจะหายจากโรคนี้หรือไม่ ?
มักจะเป็นๆ หายๆ หรือในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีผื่นเรื้อรังเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้น เมื่อโตขึ้น หรือหายไปได้เอง ในรายที่เป็นมากมักยังมีอาการในวัยผู้ใหญ่
ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง จะรักษาอย่างไร ?
การรักษาที่สำคัญแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1.การดูแลผิวหนัง เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เนื่องจากผู้ป่วยมีความผิดปกติที่ผิวหนังคือ ผิวแห้งมากกว่าคนปกติ การเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวจึงเป็นการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นอันดับแรก ในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย และยังเป็นการป้องกันไม่ให้โรคกำเริบอีกด้วย จึงควรเลือกใช้ครีมหรือโลชั่นที่มีส่วนผสมของสารที่ช่วยเก็บความชุ่มชื้นไว้ในผิวได้ดี ไม่เหนียวเหนอะหนะ และควรเป็นโลชั่นสำหรับผิวแพ้ง่ายโดยเฉพาะ ไม่ผสมน้ำหอม ไม่แต่งสี ไม่มีสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ได้ง่าย เช่น lanolin, ไม่ควรมีสารกันเสียกลุ่ม Paraben, Formaldehyde การอาบน้ำควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นที่ร้อนนานเกิน 10-15 นาที ควรเลือกใช้สบู่อ่อนสำหรับผิวแพ้ง่าย ไม่ใส่น้ำหอม ไม่ทำให้ผิวแห้งเกินไป และทาโลชั่นหรือครีมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนังหลังเช็ดตัวทันที การอาบน้ำผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือ Bleach bath จะช่วยลดปริมาณเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ที่อยู่บริเวณผิวหนัง ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นกำเริบ หรือติดเชื้อเป็นหนองได้
วิธีผสม Bleach bath ทำได้โดยผสมน้ำยา Sodium hypochlorite 1/4 – 1/2 ถ้วย + เกลือ 1 ถ้วย ต่อน้ำเต็มอ่างอาบน้ำ (ประมาณ 150 ลิตร) แช่น้ำในอ่าง 5-10 นาที ทำเช่นนี้ 2 ครั้งต่อสัปดาห์
2. การรักษาด้วยยา ใช้ในขณะที่มีผื่นคันกำเริบ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกการรักษาด้วยยาตามความเหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละราย จึงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยา และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดไม่ควรซื้อยากลุ่มนี้มาใช้เอง เพราะอาจมีผลข้างเคียงได้ ยาที่ใช้บ่อยดังนี้คือ ยาทาสเตียรอยด์ หรือยาทาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน (topical calcineurin inhibitor) เพื่อรักษาเวลาผื่นกำเริบยารักษาอาการติดเชื้อ ในกรณีที่มีการติดเชื้อที่ผิวหนังร่วมด้วย เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือโรคไวรัสเริม ในกรณีที่มีอาการคันมาก แพทย์อาจให้รับประทานยาแก้แพ้กลุ่ม anti-histamine
3. การปรับพฤติกรรม ถ้ามีการเกา ยิ่งเกามาก ผื่นยิ่งเห่ออักเสบมากขึ้น ทำให้สารระคายเคืองและสารก่อภูมิแพ้ รวมถึงเชื้อโรคผ่านผิวหนังได้มากขึ้น ควรทาโลชั่นเพิ่มขึ้นเพื่อลดอาการคันทำให้ผิวชุ่มชื้น ตัดเล็บให้สั้น และใช้เสื้อผ้าแขนขายาวในเด็กที่มีผื่นมากมักมีการแพ้อาหารบางชนิดร่วมด้วย ควรสังเกตว่าอาหารชนิดใดที่ทำให้ผื่นเห่อภายหลังการรับประทาน และปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะให้หลีกเลี่ยงอาหาร เนื่องจากการหลีกเลี่ยงอาหารโดยไม่จำเป็นอาจทำให้เด็กขาดสารอาหารได้
3.1 การเลือกเสื้อผ้าและของใช้ในชีวิตประจำวัน ควรเลือกเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้ายที่มีเนื้ออ่อนนุ่มไม่ระคายเคือง หลีกเลี่ยงการใช้เสื้อผ้าเนื้อหยาบ หลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง เช่น สบู่ แชมพู ผงซักฟอกที่มีสารระคายเคือง น้ำยาปรับผ้านุ่ม พรม ขนสัตว์ และครีมหรือโลชั่นที่ผสมน้ำหอม สารระคายเคือง งดทาแป้งเนื่องจากมีน้ำหอมมาก และทำให้ผิวแห้งมากขึ้น
3.2 สภาวะแวดล้อม เมื่ออยู่ในที่อากาศหนาวจะทำให้ผิวแห้งและผื่นกำเริบได้ ถ้าอากาศร้อนมีเหงื่อมากก็จะทำให้ผื่นเห่อคันมากขึ้นได้เช่นกัน จึงควรอยู่ในบริเวณที่อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป
3.3 ความเครียด ในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ความเครียดทำให้ผื่นเห่อมากขึ้นได้ จึงควรอธิบายและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้กับผู้ป่วยว่าไม่ใช่โรคร้ายแรง การดูแลผิว การใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้
บทความโดย
นพ. ณัฐพล ธรรมสกุลศิริ แพทย์ผิวหนังเด็ก
โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา
ปัญหาผิวลูกน้อยปรึกษาคุณหมอผิวหนังเด็กฟรี
นพ. ณัฐพล ธรรมสกุลศิริ แพทย์ผิวหนังเด็ก
โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา