
ผดร้อน คืออะไร?
ผดร้อน (Heat Rash หรือ Miliaria) เป็นปัญหาผิวหนังที่พบบ่อยในเด็ก มักพบในทารก และเด็กเล็กเนื่องจากการทำงานของต่อมเหงื่อยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ ทำให้เหงื่อไม่สามารถระบายออกได้ตามปกติ ผดร้อนมักขึ้นในวันที่มีอากาศร้อนอบอ้าว ในเด็กทารกที่ส่องไฟรักษาภาวะตัวเหลือง การห่มผ้าหนา การห่อตัว คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจสงสัยว่าเด็กอยู่ในห้องแอร์ตลอดแต่ทำไมยังเป็นผื่นผดร้อนได้ ? สาเหตุที่พบบ่อยมักเป็นเพราะอาจใส่เสื้อผ้าที่มีเนื้อหนา หรือชุดหมี ชุดบอดี้สูท ห่มผ้าหนา ซึ่งไม่ระบายอากาศ ไม่ระบายเหงื่อ, หรือตั้งอุณหภูมิแอร์ไว้ที่ 27 C ขึ้นไป จึงเป็นสาเหตุให้เกิดผดร้อนได้, สำหรับเด็กโตมักเป็นหลังวิ่งเล่นมีเหงื่อออกมาก
สาเหตุของ ผดร้อน
ผดร้อนเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เหงื่อระบายออกไม่สะดวก ได้แก่
• อากาศร้อนและความชื้นสูง
• ใส่เสื้อผ้าที่หนาแน่นหรือระบายอากาศไม่ดี
• การออกกำลังกายหรือเล่นกลางแจ้งจนเหงื่อออกมาก
• เด็กทารกมีต่อมเหงื่อที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ จึงมีโอกาสเกิดผดร้อนได้ง่าย
ประเภทของ ผดร้อน
ผดร้อนแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักขึ้นกับตำแหน่งที่อุดตันของต่อมเหงื่อ ได้แก่:
1. ผดใส (Miliaria Crystallina)
• เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อที่อยู่ส่วนบนของชั้นหนังกำพร้า ส่วนใหญ่พบในเด็กทารก
• เป็นตุ่มน้ำใสขนาดเล็ก ผิวบางแตกง่าย ไม่มีอาการอักเสบ
• มักพบบริเวณหน้า ลำตัว
• ไม่ทำให้คันและมักหายเองภายในไม่กี่วัน
2. ผดแดง (Miliaria Rubra)
• เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อที่อยู่ส่วนล่างของชั้นหนังกำพร้า
• เป็นตุ่มแดงเล็ก ๆ และมักมีอาการคันร่วมด้วย
• พบมากบริเวณข้อพับ คอ หลัง และหน้าอก
• ทำให้เด็กไม่สบายตัว อาจมีอาการแสบหรือระคายเคือง
3. ผดลึก (Miliaria Profunda)
• เป็นตุ่มสีแดงหรือสีเนื้อที่เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อระดับลึก
• พบได้น้อยในเด็ก แต่มักเกิดในผู้ที่เผชิญกับอากาศร้อนเป็นเวลานาน
• อาจทำให้ผิวแห้งลอกและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

อาการของผดร้อนในเด็ก
• มีตุ่มเล็ก ๆ สีแดงหรือตุ่มน้ำใสขึ้นตามร่างกาย
• คัน ระคายเคือง หรือรู้สึกแสบผิว
• เด็กอาจหงุดหงิดและร้องไห้บ่อยเนื่องจากความไม่สบายตัว
• ผิวหนังบริเวณที่มีผดร้อนอาจอักเสบหากมีการเกาหรือสัมผัสสิ่งสกปรก
วิธีป้องกันและดูแลผดร้อนในเด็ก
1. ให้เด็กอยู่ในที่อากาศถ่ายเทดี หรือห้องแอร์ หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน
2. เลือกเสื้อผ้าที่บางและระบายอากาศได้ดี ควรเป็นผ้าฝ้ายที่ช่วยซับเหงื่อ ควรงดใส่ชุดหมีหรือบอดี้สูท ไม่ควรห่มผ้าหนาเกินไป
3. อาบน้ำให้ลูกบ่อยขึ้น อาบน้ำเพิ่มช่วงกลางวัน โดยใช้น้ำอุณหภูมิปกติและสบู่สำหรับเด็กผิวแพ้ง่ายอ่อนโยน ไม่มีน้ำหอม
4. ซับเหงื่อออกจากร่างกายเป็นระยะ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดเหงื่อบ่อยๆ หรือใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบผื่น และใช้ผ้าแห้งสะอาดเช็ดตัว
5. หลีกเลี่ยงการใช้แป้งฝุ่น เพราะอาจทำให้รูขุมขนอุดตัน
6. ให้เด็กดื่มน้ำเพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและช่วยให้ร่างกายระบายความร้อนได้ดีขึ้น
7. ถ้าเป็นผื่นเล็กน้อยสามารถหายได้เอง ถ้าอักเสบมากควรพบแพทย์ แพทย์จะประเมินอาการ ซึ่งบางรายอาจต้องใช้ยาทาลดอักเสบกลุ่มสเตียรอยด์อ่อนๆ หรือทาโลชั่นที่ช่วยลดการอักเสบของผื่น, ผื่นมักเป็นๆ หายๆ ตามอากาศร้อน, เสื้อผ้าที่ใส่ และกิจกรรมของเด็กครับ
เมื่อไหร่ควรพาเด็กไปพบแพทย์?
แม้ว่าผดร้อนมักไม่เป็นอันตรายและหายเองได้ภายในไม่กี่วัน แต่หากพบอาการต่อไปนี้ ควรพาเด็กไปพบแพทย์ทันที
ผดร้อนมีอาการอักเสบ บวมแดง หรือมีหนอง
เด็กมีไข้สูงร่วมกับผดร้อน
ผิวหนังแห้งลอกหรือมีแผลพุพอง
เด็กมีอาการซึมลงหรือไม่กินน้ำและอาหาร

สรุป
ผดร้อนในเด็กเป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อน การดูแลให้เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อากาศถ่ายเทดี ใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม และรักษาความสะอาดของร่างกาย จะช่วยลดโอกาสเกิดผดร้อนได้ หากมีอาการรุนแรงหรือมีการติดเชื้อ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
บทความโดย
นพ. ณัฐพล ธรรมสกุลศิริ แพทย์ผิวหนังเด็ก
โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา
อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม…

ปรึกษาคุณหมอผิวหนังเด็กฟรี
นพ. ณัฐพล ธรรมสกุลศิริ
รพ. พญาไทศรีราชา
เข้ากลุ่มปรึกษา คลิกเลย…
ผลิตภัณฑ์แนะนำ
สั่งซื้อคลิกเลย/Buy
